Latest update มิถุนายน 1st, 2023 1:21 PM
ต.ค. 31, 2017 admin ข่าวภูมิภาค 0
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2560 เวลา 09.10 น. วันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ทรงเปิดอาคาร “เทพรัตน์วิทยรักษ์” เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รองรับกิจกรรมการเรียนการสอน ปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพพื้นฐาน และสาธารณสุขศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยฯ ในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และดูแลสุขภาพของประชาชน อาทิ การฝึกปฏิบัติการกายวิภาคศาสตร์ และปฏิบัติการชั้นปรีคลินิกของนักศึกษาแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์, ปฏิบัติการฝึกและดูแลผู้ป่วยของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์, การเรียนปฏิบัติการและทำโครงงานสำหรับนักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์ โดยสามารถรองรับการทำปฏิบัติการของนักศึกษาปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์สุขภาพและสาธารณสุขศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 500 คนต่อปี
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการ และห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ภายในอาคารฯ อาทิ ศูนย์การเรียนรู้นาโน แฟคทอรี ซึ่งบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด สนับสนุนอุปกรณ์และเทคโนโลยีนาโนขั้นสูง สำหรับการเรียนการสอน เช่น เครื่องตรวจจับความผิดปกติบนผิวชั้นงาน เครื่องคัดแยกชิ้นงานความละเอียดสูง, นิทรรศการเครื่องต้นแบบเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ โดยกองทุนนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้จ่ายยาได้ 50 ช่อง แบ่งออกเป็นรับประทาน 7 มื้อ ต่อวัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งช่วยในการดูแลผู้สูงอายุ, เครื่องต้นแบบเครื่องตรวจจับความชื้นปัสสาวะรดที่นอน ที่มีระบบทำงานแบบแจ้งเตือน ทั้งระบบเสียงและแสงไฟ สำหรับผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ และทารก ศูนย์ฝึกและอบรมทักษะการพยาบาลด้วยสถานการณ์เสมือนจริง รวมทั้ง ห้องปฏิบัติการ เป็นแหล่งให้บริการ การวิเคราะห์ ทดสอบ การวิจัยและพัฒนา การให้บริการพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วย การอบรมความปลอดภัย และเป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับนักเรียน นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาคใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี
เวลา 13.20 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเตย ตำบลกระเบื้องใหญ่ อำเภอพิมาย ซึ่งชุมชนร่วมกับส่วนราชการ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 โดยน้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในการดำเนินชีวิต ทำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีเงินออม มีอาหารปลอดภัย สังคมร่มเย็นเป็นสุข เป็นแบบอย่างให้กับบุคคลทั่วไปได้มาเรียนรู้ เพื่อสืบสานอาชีพการเกษตรสืบไป
ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการฐานเรียนรู้ จำนวน 7 ฐาน ประกอบด้วย การแก้ไขปัญหาดินเค็ม ซึ่งชุมชนบ้านเตย ประสบปัญหาดินเค็ม เนื่องจากตั้งอยู่บนแอ่งเกลือโคราช โดยได้ปรับปรุงคุณภาพดิน เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน ปลูกพืชเศรษฐกิจทนเค็ม และปลูกพืชคลุมดิน ส่งผลให้ไม่พบพื้นที่ดินเค็ม ผลผลิตจากการปลูกข้าวขาวจากเดิม 450 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 600 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนี้ มีฐานการเรียนรู้ปุ๋ยชีวภาพ, กลุ่มน้ำสกัดมูลสุกร, ปุ๋ยสกัดมูลไส้เดือน, พลังงานทดแทนเตาถ่าน, กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวขาว และบัญชีครัวเรือน
จากนั้นได้ทอดพระเนตรหลักสูตร “ทายาทเกษตรกรมืออาชีพ” ซึ่งสถาบันเพื่อพัฒนาการเกษตรและชนบท จำเนียร สาระนาค ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น เนื่องจากตระหนักถึงสถานการณ์ปัจจุบันของภาคการเกษตรในประเทศไทย ที่เข้าสู่ภาวะขาดแคลนผู้สืบทอดอาชีพเกษตรกรรม โดยทายาทเกษตรกรมืออาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองเป็นต้นแบบ และถ่ายทอดความรู้แก่ชุมชนบ้านเกิด ให้รู้จักหวงแหนรักษา พัฒนา และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การแปรรูปสมุนไพร เป็นยาสระผมจากถ่านชาร์โคล, อัญชัน, มะกรูด, เซรั่มข้าวหอมมะลิ โปรตีนไหม รวมทั้ง ทอดพระเนตรการดำเนินงาน และผลผลิตของชุมชนต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นเครือข่ายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกว่า 20 เครือข่าย
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นประเพณีของชาวบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการร้องเพลงโคราช โดยนายกำปั่น นิธิวรไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2545 ซึ่งเกี่ยวข้าวขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์ข้าวเจ้าที่ไวต่อแสง ทนแล้งได้ดีพอสมควร และทนต่อสภาพดินเปรี้ยวและดินเค็ม เมล็ดข้าวสารใส แกร่ง คุณภาพการสีดี คุณภาพการหุงต้มดี อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม
จากนั้น ทอดพระเนตรโรงสีข้าวชุมชน ที่ก่อตั้งโดยสมาชิกกลุ่มโรงสีข้าวตำบลกระเบื้องใหญ่ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2559 มีสมาชิก 60 ราย โดยทุนของสมาชิก 1 หุ้น ต่อข้าวเปลือก 100 กิโลกรัม และเมื่อมาใช้โรงสี สีข้าว จะให้รำอ่อน รำหยาบ แกลบ และปลายข้าวเป็นค่าตอบแทน ส่วนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ พื้นที่ปกปักทรัพยากรท้องถิ่น สระป่าช้า มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนพิมายวิทยา เข้ามาศึกษาเรียนรู้พรรณพืชในท้องถิ่น เช่น สะเดา, สะแก, และพิมาน มีลักษณะคล้ายต้นมะขามเทศ รวมทั้งอนุรักษ์พืชที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น สมอ และต้นตาล
ภาพ-ข่าว ปชส.นครราชสีมา
พ.ค. 29, 2023 0