Latest update มิถุนายน 8th, 2023 11:21 PM
ต.ค. 31, 2018 admin ข่าวภูมิภาค 0
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยพลเอก ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ร่วมลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีนายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการ ณ ห้องประชุมศรีวิชัย ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช มีนโยบายเร่งรัดดำเนินการโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งขณะนี้มีโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
3 โครงการ ได้แก่ โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ในพื้นที่ตำบลท่าไร่ ตำบลท่าเรือ ตำบลบางจาก ตำบลไชยมนตรี อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และตำบลนาสาร ตำบลนาพรุ ตำบลช้างซ้าย อำเภอพระพรหม โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสังข์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกรุงหยัน อำเภอทุ่งใหญ่ และโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลนาหลวงเสน อำเภอทุ่งสง ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการดังกล่าวสำเร็จผลโดยเร็ว ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการประชาสัมพันธ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยให้ความสำคัญ กับการสร้างความเข้าใจในลักษณะประชารัฐ ให้กับทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการขับเคลื่อนโครงการด้านบริหารจัดการน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริของจังหวัดนครศรีธรรมราช และกองอำนวยการร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช (ระดับอำเภอ) อีกด้วย จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริดังกล่าว โดยจังหวัดแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวาระพื้นที่ร่วมประชุมเพื่อรายงานความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจาการพระราชดำริ ทุกสัปดาห์ ซึ่งในการขับเคลื่อนทุกโครงการผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เน้นย้ำในเรื่องการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยการใช้หลัก “เมตตาเป็นฐาน ธรรมเป็นอำนาจ” เพื่อให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริบรรลุวัตถุประสงค์
โอกาสนี้รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับผู้เกี่ยวข้องว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีความสำคัญและเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก ซึ่งในแต่ละครั้งสร้างความสูญเสียด้านเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลจะไม่ละเลยต่อความเดือดร้อนสูญเสียของพี่น้องในพื้นที่ดำเนินการ โดยจะมีการดูแลเยียวยาเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยสิ้นเชิง พร้อมกันนี้ยังสั่งได้สั่งกำชับภาคส่วนในพื้นที่ทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และพลเรือนให้เร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว รวมทั้งเกิดความเข้าใจที่ตรงกันในการแก้ไขปัญหาและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมในระยะยาวที่ยั่งยืน
ขณะที่นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาหลวงกับอ่าวไทย มีลักษณะพื้นที่ทอดยาวขวางทิศทางการไหลของน้ำ เมื่อเกิดฝนตกหนักบริเวณเทือกเขานครศรีธรรมราชน้ำจะไหลผ่านตัวเมืองลงทะเล แต่ระบบการระบายน้ำผ่านคลองท่าดีลงสู่คลองท่าซักและคลองท่าเรือออกสู่ทะเลมีความสามารถในการระบายน้ำได้เพียง 268 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่มีปริมาณน้ำที่ต้องระบายถึง 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำเอ่อท่วมพื้นที่เกิดอุทกภัยซ้ำซากส่งผลกระทบอย่างมากต่อชุมชนและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ทำการศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2545 โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทั้งในและนอกเขตเทศบาลอย่างเป็นระบบ มีแผนการปรับปรุงระบบระบายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำโดยการขุดคลองผันน้ำใหม่ จำนวน 3 สาย ขุดขยายคลองเดิมเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ จำนวน 2 สาย พร้อมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 7 แห่ง ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 9,580 ล้านบาท ซึ่งใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปีตั้งแต่ปี 2561-2563 การดำเนินการในปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการจัดหาที่ดินและดำเนินการก่อสร้างในส่วนของคลองระบายน้ำท่าเรือ หัวตรุด เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและพื้นที่ข้างเคียง ทั้งยังสามารถเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ประมาณ 5.5 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ 17,400 ไร่ ส่วนแผนการเตรียมความพร้อมรับอุทกภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช ในช่วงฤดูน้ำหลากมีจุดเฝ้าระวังที่อยู่ในเขตชลประทานทั้งหมด 6 จุด คืออำเภอเชียรใหญ่ ชะอวด ลุ่มน้ำปากพนังล่าง อำเภอร่อนพิบูลย์ หัวไทร เฉลิมพระเกียรติ และ อ.เมืองนครศรีธรรมราช โดยกรมชลประทานได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำจำนวน 95 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 66 เครื่อง เครื่องจักรเครื่องมืออื่น ๆ จำนวน 13 หน่วย พร้อมให้มีการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
วิมล-อุไรวรรณ/ข่าว
พรรณี-วิมล/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช
มิ.ย. 08, 2023 0
มิ.ย. 08, 2023 0
มิ.ย. 08, 2023 0
มิ.ย. 08, 2023 0